Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home
โรคลิ้นหัวใจเสื่อม/ชราภาพ -โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic valvular stenosis) PDF พิมพ์ อีเมล
วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2016 เวลา 03:55 น.
There are no translations available.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คืออะไร

โรคลิ้นหัวใจเออออร์ติก (อ่านว่า เอ-ออร์-ติก) ตีบ เป็นโรคลิ้นหัวใจที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของลิ้นตามอายุ ความเสื่อมที่เกิดขึ้นนำมาสู่การเกาะของหินปูนบริเวณลิ้น ซึ่งทำให้ลิ้นขยับเปิดได้ลำบากมากขึ้น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเป็นลิ้นหัวใจที่สำคัญกล่าวคือเป็นทางผ่านของเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ในกรณีที่ลิ้นไม่สามารถเปิดได้ดีตามปกติ จะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายลดลง หรือทำให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่และอาจเกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวตามมาได้ ในผู้ป่วยบางรายมีลิ้นหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด (Bicuspid aortic valve) ก็สามารถเกิดภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบได้เช่นกันโดยอายุยังไม่มาก

 


อาการของโรค

ลิ้นหัวใจตีบสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรง ผู้ป่วยที่มีลิ้นตีบเล็กน้อย อาจไม่มีอาการใดๆเลย แต่เมื่อลิ้นตีบมากขึ้นในระดับปานกลางหรือระดับรุนแรงมักทำให้มีอาการดังนี้

  • เหนื่อยเวลาออกแรงหรือออกกำลัง หรือ
  • หน้ามืดเป็นลมหรือหมดสติเวลาออกกำลัง หรือ
  • เจ็บหน้าอก

ตามธรรมชาติของโรคนี้ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา เช่น...

ปีนี้ตรวจพบว่าลิ้นหัวใจตีบระดับเล็กน้อย อีกสามปีข้างหน้าหรือเวลาผ่านไปอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตีบระดับปานกลาง หรือ ระดับรุนแรงก็ได้

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจร่างกายจะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ และตรวจยืนยันความผิดปกติดังกล่าวโดยการตรวจ Echocardiogram (คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ อาจเรียกว่าอุลตราซาวน์ของหัวใจ) ซึงสามารถเห็นการขยับตัวของลิ้นหัวใจและการผิดรูปของลิ้นหัวใจได้อย่างชัดเจน และสามารถประเมินความรุนแรงของระดับการตีบ (น้อย ปานกลาง รุนแรง)

ควรรักษาอย่างไร

การรักษาขึ้นกับสองปัจจัยหลักคือ (1) อาการของผู้ป่วย และ (2) ความรุนแรงของการตีบ ในผู้ป่วยที่มีระดับความตีบของลิ้นอยู่ในระดับน้อย ยังไม่ต้องรักษาหรือรับประทานยาแต่อย่างใด ให้ติดตามคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจอย่างใกล้ชิดทุก 3 ปี ว่ามีการทวีความรุนแรงของระดับความตีบหรือไม่ ในผู้ป่วยที่มีระดับความตีบของลิ้นอยู่ในระดับปานกลางหรือรุนแรง ร่วมกับมีอาการ (หอบเหนื่อย เป็นลม หรือ เจ็บหน้าอก) แนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจซึ่งเป็นการรักษาวิธีเดียวที่ทำให้หายขาด ในปัจจุบันไม่มียาในการรักษาภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบให้หายขาดหรือขลอการเกิดโรคได้

การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

ปัจจุบันมีสองวิธี ได้แก่

1. การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ แต่เป็นวิธีรักษาที่มาตรฐาน และได้ผลดี

2. การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยวิธีใช้สายสวนหัวใจ (TAVI) เป็นการรักษาทางเลือก

ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถเข้าผ่าตัดใหญ่เพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ ลิ้นหัวใจเทียม มีสองชนิดหลัก ได้แก่ ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ และลิ้นหัวใจเทียมแบบชีวิภาพ ซึ่งแบบโลหะมีข้อดีคือ ทนทนกว่า และ อยู่ได้นานกว่า แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันลิ่มเลือดเกาะบริเวณโลหะ ส่วนลิ้นหัวใจเทียมแบบชีวภาพนั้นอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 10 ปี อาจมีสภาวะเสื่อมต้องเข้ารับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง แต่มีข้อดีคือไม่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดในระยะยาว การจะเปลี่ยนหรือเลือกชนิดไหนขึ้นกับสภาวะผู้ป่วยและการอภิปรายระหว่างแพทย์และผู้ป่วยร่วมกัน

 

สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์โรคหัวใจฯ

การส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย

สำนักงานศูนย์โรคหัวใจ

Statistics

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 14417590