Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home
โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ( Atrial fibrillation, AF) PDF พิมพ์ อีเมล
วันอังคารที่ 02 เมษายน 2013 เวลา 04:00 น.

บทความโดย พญ.ชนันญา ไชยอำพร

 

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation, AF ) เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากหัวใจห้องบนเต้นเร็วมากไม่สม่ำเสมอ และสูญเสียการหดตัวของหัวใจห้องบน ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ลดลง ขณะเดียวกันเลือดที่เหลือตกค้างในหัวใจห้องบนจะแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดและอาจหลุดเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดไปสู่สมองทำให้เกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

 

 

ความชุกของโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วพบได้ในประชากรทั่วไปประมาณ 1-2 % โดยอัตราการเกิดโรคจะพบเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ โดยพบน้อยกว่า 0.5% ในอายุ 40-50ปี และพบมากถึง 5-15% ในช่วงอายุ 80-90ปี

 

อาการ

อาการอาจเป็นๆหายๆ หรือเป็นต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน บางคนอาจไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่เป็นโรคโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจมีอาการดังต่อไปนี้

1.       ใจสั่นหรือใจเต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ

2.       เหนื่อย เพลีย

3.       เจ็บ แน่นหน้าอก

4.       เวียนศีรษะ หรือเป็นลมหมดสติ

สาเหตุ

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น

1.       โรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

2.       โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ อ้วน

3.       โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

4.       โรคไตเรื้อรัง

5.       ภาวะเครียด การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจัด การสูบบุหรี่

6.       ผ่าตัดหัวใจ

นอกจากนี้อาจเกิดได้โดยไม่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคใดๆ  จัดเป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจแต่เพียงอย่างเดียว ในกรณีนี้มักพบในคนที่มีอายุน้อย เรียกว่า Lone AF

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือการที่มีลิ่มเลือดที่ตกค้างอยู่ในหัวใจหลุดออกจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพาตตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว จะมีโอกาสเกิดอัมพาติจากหลอดเลือดสมองอุดตันได้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 5 เท่า นอกจากนี้อาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวเถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การรักษา

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ลดอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยแนวทางการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวควรที่จะได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้ดูแล

การรักษามี2แนวทาง ได้แก่ การรักษาแบบควบคุมอาการ เพื่อลดอาการให้น้อยที่สุดหรือไม่รุนแรง และการรักษาเพื่อให้หายขาด ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้

 

ในแนวทางการรักษาแบบควบคุมอาการ จะประกอบด้วย

1.       การใช้ยาในกลุ่มที่ปรับแก้จังหวะการเต้นของหัวใจ(Antiarrhythmic drugs)เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ ในกรณีนี้ยาไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่ละช่วยลดความถี่และความรุนแรงของการเกิดโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ ในบางกรณีอาจต้องใช้ยาร่วมกับการช็อคหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Cardioversion) ในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผลไม่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ

2.       การใช้ยาในกลุ่มที่ควบคุมการเต้นของหัวใจขณะที่เป็น AF ให้ช้าลง (rate controlling drug)เพื่อลดอาการและโรคแทรกซ้อนที่เกิดจาก AF โดยไม่ได้มุ่งหวังให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติอีก ในกรณีนี้ต้องให้ยาในกลุ่มที่ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดร่วมไปด้วย

แนวทางการรักษาเพื่อให้หายขาด โดยทำการรักษาด้วยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ ที่เรียกว่า RF Ablation วิธีการรักษานี้ทำโดยใช้เครื่องมือตรวจหาบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดของของหัวใจเต้นผิดปกติ หลังจากนั้นจะใช้สายสวนหัวใจชนิดพิเศษจี้จุดกำเนิดดังกล่าวด้วยพลังงานคลื่นวิทยุ ซึ่งจะสามารถทำให้ AF หายขาดได้ การรักษานี้จำเป็นต้องมีทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญและเทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษา AF จัดเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีแต่มีราคาแพง

การรักษาแต่ละแบบมีความเสี่ยงในการรักษา ภาวะแทรกซ้อน และโอกาสสำเร็จแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ป่วยและญาติควรที่จะต้องปรึกษากับแพทย์ถึงแนวทางการรักษาที่ดีและเหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆในผู้ป่วยแต่ละราย


 

 

สำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่ศูนย์โรคหัวใจฯ

การส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วย

สำนักงานศูนย์โรคหัวใจ

Statistics

จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 14415587