Thai (ภาษาไทย)English (United Kingdom)

Home Heart Transplant Journey (Article is in Thai)
Heart Transplant Journey PDF Print E-mail
Sunday, 17 June 2012 13:50

 

ประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่องการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๐ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ชวลิต อ่องจริต และคณะ ได้นำหัวใจที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายอายุ ๔๖ ปี มาทำการปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยชายอายุ ๑๙ ปีป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการเป็นผลสำเร็จ นับจากวันนั้นเป็นเวลาเกือบ ๒๕ ปีแล้วที่หัวใจของผู้ใจบุญยังคงเต้นอยู่ในร่างของชายผู้นี้ จากความสำเร็จในครั้งนั้น ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ เห็นความสำคัญของกระบวนการและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประชุมโต๊ะกลมของแพทย์ และนักกฏหมายจากสถาบันต่างๆในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ส่งผลให้มีประกาศแพทยสภาเรื่อง “เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย” บัญญัติไว้ในข้อบังคับแพทยสภาในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๙ , พ.ศ. ๒๕๕๒ และล่าสุดวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๔ มีการจัดตั้ง ชมรมเปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๑ (ปัจจุบันใช้ชื่อสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย) จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ และชมรมผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๓ จากความทุ่มเทของบุคลากรทุกฝ่าย และผลสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆให้กับผู้ป่วยที่การทำงานของอวัยวะสำคัญล้มเหลวจนไม่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีอื่นใดเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในวงการแพทย์และภาคประชาชน แต่ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ คือ อวัยวะที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายไม่เพียงพอกับผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะด้วยความทุกข์ทรมานจำนวนมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายหัวใจ ซึ่งต้องรอรับหัวใจบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละอวัยวะมีความยุ่งยากต่างกัน กล่าวคือ ในการปลูกถ่ายไตจะมีความยุ่งยากในขั้นตอนการคัดเลือกหาผู้รับบริจาคไตที่เหมาะสมที่สุด ส่วนการปลูกถ่ายตับนั้นใช้เวลาการผ่าตัดนาน เนื่องจากต้องมีการต่อเส้นเลือดหลายเส้นและท่อน้ำดี ส่วนการปลูกถ่ายหัวใจหรือหัวใจ-ปอดนั้นเป็นอวัยวะที่เก็บรักษาได้ในเวลาไม่นานนัก คือไม่ควรเกิน ๔ ชั่วโมง นับตั้งแต่ปิดทางเดินเลือดในการผ่าตัดหัวใจของผู้บริจาค จนกระทั่งเปิดให้เลือดไหลผ่านหัวใจใหม่ในผู้รับการปลูกถ่าย ดังนั้นการปลูกถ่ายหัวใจหรือหัวใจ-ปอดนั้น ต้องมีการประสานงานเป็นอย่างดีระหว่างทีมผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะ (Harvesting or Procurement team) และทีมผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant team)

ในกรณีที่การผ่าตัดรับบริจาค และการปลูกถ่ายหัวใจทำในโรงพยาบาลเดียวกัน มักจะจัดให้ทั้ง ๒ ทีมทำผ่าตัดในห้องผ่าตัดที่ติดกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อสะดวกในเรื่องการสื่อสาร การประเมินสภาพหัวใจที่จะรับบริจาค และความเหมาะสมของเวลาในการทำผ่าตัดของทีมทั้ง ๒ ซึ่งทำได้ไม่ยากนัก

แต่ในกรณีที่ทีมรับบริจาคอวัยวะต้องเดินทางไปทำผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะที่โรงพยาบาลอื่น ข้อจำกัดเรื่องเวลาในการเก็บรักษาหัวใจที่มีเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทาย การเดินทางไปรับบริจาคอวัยวะที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯหรือปริมณฑลโดยรถพยาบาล มักมีอุปสรรคเรื่องการจราจรผู้ประสานงาน ต้องวางแผนเส้นทางการเดินทางให้ดี โดยประสานงานกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยที่จะขอความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง จากหน่วยงานอื่น เช่น ศูนย์ควบคุมการจราจร ตำรวจทางด่วน หรือตำรวจทางหลวง เป็นต้น เทคนิคเคล็ดลับจะเป็นอย่างไร อันนี้บอกกันยากเพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันนั้น กล่าวคือ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขในการเดินทางแต่ละครั้งไม่ซ้ำกัน ฉนั้นผู้ประสางานการปลูกถ่ายอวัยวะไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นโรคสมองฝ่อ เพราะต้องแก้ปัญหากันอย่างสนุกสนาน แต่สมองอาจจะเสื่อมเร็วกว่ากำหนด เพราะต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อเพื่อการนี้บ่อยครั้ง และบางครั้งใช้เวลานานกว่าจะเสร็จภาระกิจ ยิ่งถ้าต้อง เดินทางไปรับอวัยวะที่ต่างจังหวัดไกลๆที่ใช้เวลาการเดิยทางด้วยรถยนต์นานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว การพิจารณารับบริจาคหัวใจ คงต้องเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร ซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากการบินไทย และนกแอร์ จำนวน 8 ที่นั่งสำหรับทีมผ่าตัด ถ้ารับอวัยวะอื่นก็ไม่เป็นปัญหา แต่การรับบริจาคหัวใจหากเวลาในการเดินทางคลาดเคลื่อนจากกำหนดการ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของหัวใจที่จะมาทำผ่าตัดปลูกถ่าย เช่นนี้แล้วผู้ประสานงานจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เพราะต้องเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลและเตรียมความพร้อมในทุกเรื่อง ได้แก่

• วางแผนและประสานงานเกี่ยวกับพาหนะในการเดินทางทั้งไปและกลับ

• ประสานงานกำหนดเวลาเพื่อเริ่มทำการผ่าตัด และการปิดทางเดินเลือดในผู้บริจาคอวัยวะ

• ติดตามกำหนดเวลาบิน โดยเฉพาะเที่ยวกลับว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ เพื่อให้ทีมมั่นใจในการทำผ่าตัดตามเวลาที่วางแผนไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงต้องรีบประสานงานกับทีมทันที เพราะมีผลต่อกำหนดเวลาปิดทางเดินเส้นเลือด และการเริ่มผ่าตัดในผู้รับการปลูกถ่ายหัวใจ

• ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสมบูรณ์ของเอกสารสำคัญ อุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ รวมถึงปากท้องของทีม เป็นต้น

นอกจากนี้เรายังมีพันธมิตรที่ดีเยี่ยมอีก คือ กองการบินตำรวจ ที่ให้ความอนุเคราะห์การเดินทางด้วยเครื่องบินที่คัดสรรแล้วว่าสมรรถนะเยี่ยมที่สุดที่มีอยู่ให้กับทีมเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯร้องขอ ส่วนมากจะเป็นกรณีที่เครื่องบินพานิชย์ไม่มีที่นั่งจริงๆ หรือผู้บริจาคอยู่โรงพยาลบาลที่ไกลและไม่มีเครื่องบินพานิชย์ให้บริการ

เห็นไหมค่ะว่างานรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้ความร่วมมือของหน่วยงาน และบุคลากรจำนวนมาก กว่าผู้ป่วยที่รอคอยความหวังแต่ละคนจะกลับมามีชีวิตใหม่ได้จากการบริจาคอวัยวะของผู้มีจิตอันเป็นกุศล

 

ประพันธ์โดย นางสุภาภรณ์ ศรีตั้งศิริกุล

 

KCMH Cardiac Center Staff Login

CARDIAC CENTER OFFICE

Statistics

Content View Hits : 14382693